แบบบ้านชั้นเดียว เป็นบ้านที่มีห้องต่างๆ อยู่ภายในชั้นเดียวรวมกัน ซึ่งหากเราลองมองแปลนบ้านชั้นเดียวดีๆจะพบว่า ที่จริงแล้วบ้านชั้นเดียวมีลักษณะเหมือนห้องคอนโดขนาดใหญ่ มีฟังก์ชันที่จำเป็นต้องใช้งานครบ ไม่ว่าจะเป็นห้องรับแขก ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องครัว โดยทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วย คอมมอน แอเรีย (Common Area)

วันนี้เราขอแนะนำ 10 แบบบ้านชั้นเดียว งบหลักแสน ถึง หลักล้าน มาให้คุณได้พิจารณา เผื่อไว้เป็นทางเลือกสำหรับการสร้างบ้านในอนาคต ว่าแต่ 10 แบบบ้านชั้นเดียว จะมีสไตล์ไหนบ้างที่โดนใจคุณ เราไปชมกันเลย
1.บ้านชั้นเดียวสไตล์ลอฟท์ (Loft)

บ้านสไตล์ลอฟท์ เป็นการตกแต่งที่มีจุดเด่นตรงลักษณะของอาคารที่มีความกว้าง เพดานสูง มักตกแต่งด้วยวัสดุที่โชว์ความเรียลที่ไม่ต้องปกปิดใดๆ เช่น การใช้อิฐสีส้มหรือปูนเปลือยก่อผนัง โชว์ให้เห็นท่อเหล็กของภายในอาคาร และการเดินสายไฟโชว์ตามผนังแบบไม่ต้องซ่อนไว้ใต้ฝ้าหรือหลังกำแพง ซึ่งจะเห็นได้ว่าสไตล์ลอฟท์จะเน้นใช้วัสดุและลักษณะเด่นที่เน้นความ “ดิบ” ให้ความรู้สึกถึงโรงงานอุตสาหกรรมหนักในสมัยก่อน Mood and Tone ที่ออกมาจะเป็นโทนขาวๆ เทาๆ สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 70 ตรม. ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบด้วย 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว งบประมาณก่อสร้าง 220,000 บาท
2.บ้านชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น (Zen Japanese)

บ้านชั้นเดียวสไตล์ญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่าสไตล์เซน (Zen) บ้านสไตล์นี้ดีไซน์ถือว่าสวยมาก น่าอยู่แบบสุดๆ ด้วยตัวบ้านทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูงเล็กน้อย วัสดุทั้งภายในและภายนอกเน้นใช้งานไม้ พื้นที่ด้านหน้ามีระเบียงเล็กๆ ไว้นั่งพักผ่อน ส่วนภายในใช้งานไม้ทั้งหมด ทั้งพื้น ผนังห้องและฝ้าเพดาน เน้นใช้ไม้โทนสีเหลืองอ่อน ให้อารมณ์ของความเป็นญี่ปุ่น ภายในมีพื้นที่กว้างขวาง สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 60 ตรม.เพราะใช้พื้นที่ห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร พื้นที่ทำครัวร่วมกัน มี 1 ห้องนอน และ 1 ห้องน้ำ งบประมาณก่อสร้าง 280,000 บาท
3.บ้านชั้นเดียวสไตล์ไทย (Thai House)

บ้านสไตล์ไทย เน้นสร้างให้บรรยากาศอบอุ่น ออกแบบเน้นเรียบง่าย ซึ่งสิ่งที่กำหนดไว้แต่แรกคือ มีพื้นที่ว่างกลางตัวบ้านที่เปิดโล่ง มีห้องต่างๆ เรียงขนาบทั้งสองด้าน ด้านหน้ากั้นด้วยประตูบานเฟี้ยม ซึ่งเมื่อเปิดออกทั้งหมดก็จะเห็นพื้นที่ที่ซ่อนอยู่ด้านในโล่งกว้าง ขณะเดียวกันเมื่อมองออกมาภายนอกก็สามารถรับชมวิวได้เต็มๆ สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 45 ตรม.ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบไปด้วย ประกอบด้วย 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ มีพื้นที่อเนกประสงค์ซึ่งเป็นเหมือนพื้นที่ส่วนรวมของบ้าน ใช้นั่งเล่นและรับประทานอาหาร รวมทั้งมีพื้นที่ทำครัวเล็กๆ สำหรับเตรียมอาหาร งบประมาณก่อสร้าง 350,000 บาท
4.บ้านชั้นเดียวสไตล์โคซี่ (Cozy)

บ้านสไตล์โคซี่ คือ การนำความเรียบง่ายของสไตล์มินิมอลมาผสมผสานกับการตกแต่งที่มีความอบอุ่นในแบบฉบับ Cozy กลิ่นอายสไตล์คาเฟ่ หรือ แบบบ้านมินิมอลที่เราเห็นกันบ่อยๆ โทนสีที่ใช้นิยมเป็นสีเอิร์ธโทน ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย อยู่ง่าย วัสดุที่นิยมใช้ คือวัสดุประเภทไม้ กับโทนสีอ่อนๆ เช่น สีน้ำตาลอ่อน สีครีม สีฟ้าอ่อน สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 50 ตรม. ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบด้วย 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว 1 ห้องรับแขก งบประมาณก่อสร้าง 485,000 บาท
5.บ้านชั้นเดียวสไตล์นอร์ดิก (Nordic)

บ้านสไตล์นอร์ดิก หรือ บางท่านเรียกว่าบ้านสไตล์สแกนดิเนเวีย เป็นรูปแบบบ้านที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมของยุโรปตอนเหนือ ซึ่งบ้านสไตล์นอร์ดิกจะมีเอกลักษณ์ในเรื่องของความอบอุ่น เรียบง่าย เน้นความโปร่งโล่ง และมีจุดเด่นก็คือรูปทรงฟาซาดที่มีลักษณะเป็นจั่วห้าเหลี่ยม เป็นอีกแบบที่นิยมสำหรับบ้านน็อคดาวน์ สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 50 ตรม. ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบด้วย 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องรับแขก 1 ห้องครัว และระเบียงหน้าบ้าน พร้อมที่จอดรถ 1 คน งบประมาณก่อสร้าง 590,000 บาท
6.บ้านชั้นเดียวสไตล์โมเดิร์น (Modern)

แบบบ้านโมเดิร์นชั้นเดี่ยว ลักษณะบ้านออกแบบเป็นบ้านชั้นเดียว สไตล์โมเดิร์นหลังคาแบบเพิงแหงนเรียบง่าย เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะก่อสร้างได้ง่าย ช่วยประหยัดงบด้วย ผนังภายนอกตัวบ้านโทนนิยมสีขาวตัดกับสีคิ้วบัวประตูและกรอบหน้าต่าง มีระเบียงพักผ่อนใช้เป็นที่ต้อนรับแขกนอกบ้าน และมุงหลังคาด้วยเมทัลชีท สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 80 ตรม.ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบด้วย 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว 1 ห้องรับแขก และระเบียง งบประมาณก่อสร้าง 688,000 บาท
7.บ้านชั้นเดียวสไตล์คอทเทจ (Cottage)

บ้านสไตล์คอทเทจ ได้รับแรงบันดาจใจมาจากบ้านแถบชนบทในยุโรป สร้างจากวัสดุธรรมชาติ มีภาพลักษณ์ที่อบอุ่น อ่อนโยน กลมกลืนกับบริบทในชุมชนเมืองหรือต่างจังหวัดได้อย่างลงตัว Cottage Style จึงเป็นการตกแต่งบ้านแบบคันทรี่ในฝั่งยุโรปตะวันตก เหมาะสำหรับเป็นบ้านตากอากาศหรือทำเป็นรีสอร์ต ลักษณะตัวบ้านชั้นเดียว ดีไซน์ยกพื้นใต้ถุนต่ำ หลังคาทรงจั่วหันข้าง ด้านหน้ามีชายคาคลุมระเบียง ผนังภายนอกเลือกใช้วัสดุไม้ ในส่วนของประตูหน้าต่างนั้นเลือกใช้กระจกใส่ตีกรอบไม้ลายตารางสี่เหลี่ยมตามสไตล์คอทเทจ สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 70 ตรม.ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบไปด้วย 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องรับแขก 1 ห้องครัว และระเบียงยาว งบประมาณก่อสร้าง 790,000 บาท
8.บ้านชั้นเดียวสไตล์ทรอปริคอล (Tropical)

บ้านสไตล์ทรอปริคอล เป็นอีกรูปแบบบ้านชั้นเดียวที่ได้รับความนิยม เพราะการออกแบบที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นแบบเมืองไทย ทรอปิคอลสไตล์จึงเน้นการตกแต่งที่เน้นให้บรรยากาศรู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ และเป็นธรรมชาติ วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้สื่อถึงธรรมชาติ เน้นของตกแต่งจากวัสดุธรรมชาติ สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 70 ตรม. ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบด้วย 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว และระเบียงหน้าบ้าน งบประมาณก่อสร้าง 800,000 บาท
9.บ้านชั้นเดียวสไตล์โคโลเนียล (Colonial)

บ้านสไตล์โคโลเนียล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ด้านหน้าของอาคารหรือตัวบ้านจะทำเป็นช่องโค้ง เว้นเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ซึ่งภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า อาเขต (arcade) หมายถึงทางเดินกว้างห้าฟุต เหมาะสำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 130 ตรม.ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบไปด้วย 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว 1 ห้องรับแขก และระเบียงหน้าบ้าน ตกแต่งในโทนสีขาวเรียบง่าย ทำให้บ้านดูโดดเด่นสะดุดตา และมีพื้นที่พักผ่อนรอบบ้านอีกด้วย งบประมาณก่อสร้าง 1.3 ล้านบาท
10.บ้านชั้นเดียวสไตล์ร่วมสมัย (Contemporary)

บ้านสไตล์ร่วมสมัย ไม่บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นบ้านสไตล์ไหน แต่มักจะประยุกต์ร่วมเข้ากับความสมัยใหม่ เป็นสไตล์ที่ยืดหยุ่นที่สุด ไม่มีกฎตายตัว แต่ในภาพรวมดูเรียบง่าย สบาย อบอุ่น และใกล้ชิดธรรมชาติ เข้ากันได้กับบ้านทุกสไตล์ ลักษณะการออกแบบบ้านชั้นเดียวสไตล์คอนเทมโพรารี่ หลังคาแบบทรงปั้นหยาสไตล์ร่วมสมัย ตัวบ้านโทนสีเข้ม สลับแต่งผนังด้วยสีอ่อนๆ มีเสาด้านหน้าตัวบ้านแต่งด้วยหินตกแต่งลายสีธรรมชาติ สำหรับพื้นที่บ้านประมาณ 130 ตรม.เป็นบ้านที่เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดกลางอย่างมาก ฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบด้วย 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว และห้องโถงกลางพักผ่อนและรับแขก งบประมาณก่อสร้าง 1.5 ล้านบาท
10 แบบบ้านชั้นเดียว ที่นำเสนอมานี้คงทำให้หลายท่านปลดล็อคเรื่องข้อจำกัดของแบบบ้านไปได้พอสมควร เพราะในปัจจุบันสไตล์บ้านต่างๆ สามารถนำมาสร้างเป็นบ้านชั้นเดียวได้ ขึ้นอยู่กับความต้องกรและงบประมาณ เพราะบ้านชั้นเดียวมีจุดขายในเรื่อง พื้นที่กว้างกว่า ต่อเติมพื้นที่ได้ง่าย รองรับการใช้งานของคนทุกช่วงวัย ก่อสร้างง่ายกว่า โครงสร้างไม่ซับซ้อน ช่วยเพิ่มปฎิสัมพันธ์ เพิ่มความอบอุ่นในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
อ่านบทความ 25 ไอเดีย โรงจอดรถ สวยๆ
แหล่งที่มาของภาพ www.pexels.com