
ไม่ว่าที่พักอาศัยจะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน ในปัจจุบันนี้เราคงปฏิเสธการใช้ไฟฟ้าในบ้านไม่ได้เลย เพราะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลายๆ สิ่งจำเป็นจะต้องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ ซึ่งถึงแม้ว่าการใช้ไฟฟ้าจะง่ายสักแค่ไหน แต่ก็จำเป็นจะต้องมีข้อควรระวังหลายๆ อย่างเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า โดยเฉพาะส่วนของ เต้ารับ
เต้ารับ เป็นอีกหนึ่งส่วนที่อยู่กระจายอยู่ทั่วทั้งบ้าน เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อของเครื่องใช้ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ทุกคนจึงจำเป็นจะต้องมีความรู้ที่เหมาะสมเกี่ยวกับการใช้เต้ารับเพื่อความปลอดภัย วันนี้…เราจึงอยากจะมาแนะนำถึงข้อควรระวังต่างๆ ที่ทุกๆ คนควรจะต้องรู้เอาไว้เป็นพื้นฐาน เพื่อให้การใช้งานเต้ารับเกิดความปลอดภัยได้ดีที่สุด
1 การติดตั้งเต้ารับแบบติดผนังต้องทำให้ได้มาตรฐาน
การติดตั้งเต้ารับแบบติดผนัง จะต้องมีการขันสกรูให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้เต้ารับหลุดออกมาจากกำแพงบ้าน ซึ่งหากเต้ารับหลุดออกมาระหว่างการใช้งาน อาจทำให้ระบบการใช้ไฟฟ้ามีปัญหา เกิดการลัดวงจร และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน
2 การเสียบปลั๊กเข้าสู่เต้ารับต้องเสียบให้แน่น
หลายๆ คนคิดว่าแค่เสียบปลั๊กไฟเข้าไปในรู ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่จริงๆ แล้วยังไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะความจริงแล้ว…การเสียบปลั๊กทุกครั้งจะต้องเสียบให้แนบสนิทกับเต้ารับ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลั๊กไฟหลุดออกมา หรือเกิดปัญหาการรัดวงจรหากไม่แนบสนิทมากเพียงพอ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานในลำดับต่อไปได้
3 ถอดปลั๊กออกจากเต้ารับทุกครั้งหลังใช้งาน
เมื่อใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเสร็จแล้วทุกครั้ง อย่าลืมถอดปลั๊กออกจากเต้ารับเพื่อความปลอดภัย และเป็นอีกหนึ่งวิธีในการประหยัดไฟ
4 อย่ากระชากสายไฟออกจากเต้ารับ
เมื่อคุณต้องการถอดปลั๊กไฟออกจากเต้ารับ ไม่ควรจะดึงหรือกระชากที่สายไฟ เนื่องจากอาจจะทำให้สายไฟขาดหรือชำรุดได้วิธีการที่ดีที่สุด คือ การถอดปลั๊กไฟโดยใช้มือจับไปที่ปลั๊กไฟ และค่อยๆ ดึงออกอย่างเบามือ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีชิ้นส่วนใดหลุดออกมา
5 ไม่ควรที่จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกินพิกัดของเต้ารับ
เต้ารับทุกตัวจะมีความสามารถในการใช้งานในพิกัดที่แตกต่างกัน ดังนั้น ไม่ควรที่จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกินพิกัดของเต้ารับเพราะอาจจะทำให้เกิดเป็นความร้อน และก่อให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรได้

6 ไม่ควรใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลายเครื่องจาก เต้ารับ ตัวเดียวกัน
เช่นเดียวกับ ข้อ 5 เนื่องจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลายเครื่องจากเต้ารับตัวเดียวกัน อาจทำให้เต้ารับสะสมความร้อนมากจนเกินไป และอาจจะก่อให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือเพลิงไหม้ได้
7 ควรต่อระบบสายดินที่ เต้ารับ
เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว จึงควรต่อระบบสายดินที่เต้ารับ หากเกิดเหตุการณ์ไฟรั่ว จะทำให้ผู้ใช้งานไม่ได้รับอันตรายจากไฟฟ้า
8 กันเด็กเล็กออกจากเต้ารับ
วัยเด็ก เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และชอบทดลอง จึงมีโอกาสที่เด็กน้อยจะเอานิ้วมือ ของเล่น หรือสิ่งของต่างๆ เสียบเข้าไปในรูของเต้ารับ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตราย โดนไฟฟ้าดูด หรือเกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ปกครองต้องป้องกันปัญหานี้ หรือหาอุปกรณ์ป้องกันมาใช้ในจุดที่เด็กเล็กเสี่ยงที่จะเข้าถึงได้ง่าย

คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอนิกส์ (International Electrotechnical Commission) หรือ IEC มีการออกแบบเต้ารับออกมาหลายๆ รูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับความแตกต่างของเต้าเสียบด้วยกันถึง 15 แบบ แต่ละแบบจะมีลักษณะของขา จำนวนของขา และวิธีการต่อกราวด์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าหรือแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไปด้วย ซึ่งในไทยจะมีรูปแบบของเต้ารับที่ใช้ทั่วไปแค่ 5 แบบเท่านั้น ได้แก่
Type A เต้าเสียบขาแบน 2 ขา ไม่มีการต่อลงดิน
Type B เต้าเสียบขาแบน 2 ขา และขากลม 1 ขา สำหรับต่อลงดิน
Type C เต้าเสียบขากลม 2 ขา ไม่มีการต่อลงดิน
Type F เต้าเสียบขากลม 2 ขา มีการต่อลงดิน
Type O เต้าเสียบขากลม 3 ขา มีการต่อลงดิน
ในการใช้งานไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ใดๆ ก็ตาม หากไม่ทราบข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้อง อาจจะนำมาสู่อันตรายได้ และเต้ารับก็เป็นอุปกรณ์พื้นฐานภายในบ้านที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งหากคุณใส่ใจกับการใช้เต้ารับอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยภายในบ้านมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
อ่านบทความ 10 ไอเดียออกแบบ บันได สวยๆ
อ้างอิง