
ฝ้าเพดาน เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบของบ้านที่คุณสามารถเลือกใช้วัสดุได้หลากหลาย และลักษณะในการติดตั้งแต่ละประเภทก็จะมีความเหมาะสมกับบ้านในหลาย ๆ รูปแบบ ทั้งในส่วนของความสวยงาม ความยากง่ายในการติดตั้ง ความสะดวกในการเข้าบำรุงรักษา ทิศทางการระบายอากาศ การส่องผ่านของแสง รวมถึงฟังก์ชันในการใช้งาน
ทั้งนี้ โดยหลักแล้วฝ้าเพดานมันจะถูกออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการปิดบังระบบท่อต่างๆที่ไม่น่าดู ซ่อนอุปกรณ์ต่างๆเอาไว้เหนือเพดาน ช่วยป้องกันฝุ่น ช่วยป้องกันสัตว์จากภายนอกที่เราไม่ต้อนรับ สร้างความสวยงามเป็นระเบียบให้กับห้องแต่ละห้อง อีกทั้ง ยังช่วยรักษาอุณหภูมิภายในห้องให้คงที่อีกด้วย
ทั้งนี้ หากแบ่งประเภทของฝ้าเพดานตาม “ลักษณะของการติดตั้ง” จะสามารถแบ่งออกเป็นประเภทที่แตกต่างกัน ได้ 8 ประเภท และมีความเหมาะสมต่อความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
1 ฝ้าเพดานฉาบเรียบ

ความเรียบง่าย มินิมอล และประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นพื้นฐานความต้องการสำหรับคนที่ต้องการบ้านหรือห้องแบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งคุณสามารถเลือกใช้ฝ้าแบบฉาบเรียบได้เลย ฝ้าประเภทนี้มีความสวยงามและมองไม่เห็นรอยต่อ ซึ่งน่าจะถูกใจสำหรับคนที่รักความเรียบง่าย และไม่ต้องการจ่ายแพง
ฝ้าแบบฉาบเรียบ มักจะทำจากวัสดุเป็นไฟเบอร์ซีเมนต์หรือยิปซั่ม ที่เน้นน้ำหนักเบา และสามารถที่จะยึดเข้ากับโครงของหลังคาได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ฝ้าแบบฉาบเรียบมักจะเป็นการติดตั้งแบบถาวร ทำให้การจะเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมแซมระบบใต้เพดานจะยากกว่าเพดานแบบอื่น ๆ และอาจจะต้องรื้อใหม่ยกชุดหากมีบางส่วนชำรุดทรุดโทรม
2 ฝ้าแบบเล่นระดับ หรือฝ้าหลุม

หากต้องการเพิ่มความแพงให้กับตัวบ้าน การสร้างเพดานหลายระดับจะเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยให้บ้านดูหรูหรามีราคามากขึ้นได้
ลักษณะเพดานแบบมีลูกเล่นเช่นนี้มักจะพบได้น้อย ราคาแพง เนื่องจากจะมีการเล่นระดับที่ไม่เท่ากัน มีความซับซ้อนในการออกแบบ เพื่อทำให้เกิดลักษณะความสวยงาม มีมิติ และช่วยทำให้ห้องมีความหรูหราและร่วมสมัยมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้ง การเล่นระดับที่ไม่เท่ากันเพดาน ทำให้ระยะระหว่างพื้นและเพดานโปร่งมากขึ้นกว่าเดิม
การใช้ฝ้าเพดานประเภทนี้อาจจะมีการเลือกใช้บัวตกแต่งผสมผสานไปด้วย และโดยทั่วไปก็จะมีการออกแบบให้สอดรับไปกับการติดตั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต้องติดตั้งบนเพดาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ พัดลมเพดาน หรือโคมไฟที่ติดกับเพดาน เป็นต้น
3 ฝ้าเพดานแบบทีบาร์ หรือแบบเพดานแขวน

หากคุณไม่ได้เน้นความสวยงาม แต่ต้องการความง่ายในการซ่อมบำรุง การใช้ฝ้าเพดานทีบาร์ตอบโจทย์มากที่สุด เนื่องมาจากความสะดวกตั้งแต่การติดตั้ง และมีราคาที่ถูกกว่าการติดตั้งฝ้าในลักษณะอื่นๆ รวมไปถึงการใช้ฝ้าในลักษณะดังกล่าวจะทำให้งานซ่อมแซมระบบต่างๆที่ซ่อนเอาไว้ด้านบนทำงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และย่อมเยาว์
ฝ้าแบบทีบาร์ จะเป็นการใช้โครงอลูมิเนียมคว่ำเป็นรูปตัว T และแบ่งเป็นช่องตารางเท่าๆกัน เพื่อใช้ในการวางแผ่นฝ้ายิปซั่มสี่เหลี่ยม และใช้ลวดยึดเข้ากับโครงเคร่า
อย่างไรก็ตาม การใช้ฝ้าเพดานชนิดดังกล่าวจะไม่เหมาะกับการใช้ในห้องที่มีขนาดใหญ่มากๆ เพราะอาจจะทำให้เพดานมีลักษณะเป็นคลื่นและไม่สวยงาม รวมไปถึงยังไม่แนะนำในการใช้ในอาคารสูง เพราะหากเกิดการสั่นไหวจากแผ่นดินไหว อาจจะทำให้ฝ้าหลุดร่วงลงมา จนเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายได้
แม้ว่าเพดานประเภทนี้จะสามารถติดตั้งได้ทุกห้อง แต่ถ้าต้องติดตั้งในห้องที่มีความชื้นสูง จำเป็นจะต้องเลือกใช้ฝ้าทีบาร์แบบกันความชื้น เพื่อยืดอายุการใช้งาน และป้องกันไม่ให้วัสดุผุหรือเสื่อมลงได้ง่าย
4 ฝ้าแบบดูดซับเสียง หรือฝ้าแบบอะคูสติก (Acoustic)

ห้องประชุม ห้องสัมมนา หรือห้องที่จะต้องมีการใช้เครื่องขยายเสียง จำเป็นต้องมีการออกแบบผนังและฝ้าเพดานในรูปแบบที่พิเศษกว่าห้องธรรมดาทั่วไป เพื่อให้มีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงสะท้อน และเพื่อความคมชัดในการรับฟังเสียง
รูปแบบของฝ้าแบบ Acoustic จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ห้องประเภทนี้ เนื่องจากจะเป็นการอัพเกรดฝ้าโครงคร่าวทีบาร์ หรือฝ้าแบบแผ่นเรียบ ให้เพิ่มฟังก์ชันในการป้องกันเสียงสะท้อน ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่มีพื้นผิวขรุขระ เพื่อให้เกิดการดูดซับเสียง ช่วยให้ระบบเครื่องเสียงภายในห้องมีความคมชัด และคุณภาพเสียงภายในห้องมีความชัดเจน
5 ฝ้าเพดานโปร่ง หรือฝ้าระแนง

หากคุณต้องการห้องที่ทันสมัย ไม่จำเจ การเลือกใช้ฝ้าระแนงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ทั้งนี้ ยังสามารถเลือกใช้วัสดุได้หลากหลายตามความต้องการของผู้อาศัยหรือใช้งานได้ด้วย
นอกจากนี้ การใช้ฝ้าระแนง หรือ ฝ้าเพดานแบบโปร่ง ยังเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของฝ้าที่ง่ายต่อการซ่อมแซมระบบโครงสร้างต่างๆของอาคาร เหมาะอย่างยิ่งสำหรับอาคารที่มีขนาดใหญ่ และต้องการตกแต่งเพื่อความสวยงาม
การใช้ฝ้าเพดานแบบโปร่งจะช่วยทำให้การถ่ายเทของอากาศเป็นไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น ทำให้คุณมักจะเห็นการใช้เพดานในรูปแบบดังกล่าวในสถานที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม เป็นต้น
6 ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ หรือ ไฟหลืบ

หากต้องการห้องที่มีลูกเล่นของแสงไฟที่ไม่เหมือนใคร การเลือกใช้ฝ้าที่ซ่อนระบบไฟไว้จะเป็นคำตอบที่คุณต้องการ เพราะการเลือกทำเพดานในลักษณะนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศ และความสวยงามให้กับห้อง ๆ นั้น ที่แตกต่างไม่เหมือนกับการใช้ฝ้าประเภทอื่นๆด้วย
ฝ้าแบบซ่อนระบบไฟ จะมีการเว้นพื้นที่ของฝ้าเอาไว้วางแนวไฟ และส่องแสงทะลุผ่านแผ่นฝ้าลงมาถึงพื้นห้องด้านล่าง ทำให้แสงที่ส่องมาจะมีความแปลกตา นุ่มนวล แต่สม่ำเสมอ
7 ฝ้าเพดานภายนอก หรือฝ้าชายคาภายนอก

นอกจากภายในอาคารแล้ว ภายนอกอาคารก็ยังมีบางส่วนที่จำเป็นจะต้องติดตั้งฝ้าเพดานด้วยเช่นกัน และมักติดตั้งเอาไว้ที่ชานบ้านหรือที่ระเบียง
ทั้งนี้ บริเวณภายนอกอาคารจำเป็นจะต้องมีการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสม และต้องมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ สามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ เล็ดลอดเข้ามาอยู่ภายในอาคารได้
ที่สำคัญจะต้องช่วยป้องกันความร้อนจากภายนอก และทำให้เกิดการระบายอากาศใต้หลังคาได้เป็นอย่างดี ทำให้การออกแบบฝ้าเพดานที่ใช้สำหรับภายนอก ต้องมีร่องระบายอากาศเพื่อทำให้เกิดฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสม
8 ฝ้าเพดานแบบติดตั้งพิเศษ

เมื่อมีคำว่า ‘ติดตั้งพิเศษ’ นั่นหมายความว่า ฝ้าเพดานชนิดนี้มีวัตถุประสงค์การสร้างเพื่อความแตกต่าง ต้องสวยงาม และแปลกใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ที่พบเห็น ทำให้ลักษณะหรือเอกลักษณ์ต่างๆของฝ้าเพดานประเภทนี้ไม่สามารถระบุได้ แต่จะแตกต่างไปกับรูปแบบทั่วๆไปที่เคยพบเห็น
ทั้งนี้ มักจะมีเป็นผสมผสานระหว่างวัสดุหลายๆแบบ ไม่ว่าจะเป็น ไม้ กระจก อะคริลิค ผ้าใบ หรือแผ่นอลูมิเนียม ความแตกต่างของวัสดุแต่ละชนิดจะหล่อหลอมให้เกิดเป็นความสมบูรณ์และสวยงามมากที่สุด ภายใต้การติดตั้งที่เหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละกรณี
การติดตั้งฝ้าเพดาน จะต้องมีการออกแบบ วางแผน และติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยให้การเป็นความสวยงาม คงทน เหมาะสมกับการใช้งาน และไม่ต้องเสียเวลามาแก้งานหรือรื้อถอนในภายหลัง
จะเห็นได้ว่าฝ้าเพดานที่เรามีในปัจจุบันนี้มีความหลากหลาย และแตกต่างกันตามความต้องการในการใช้งาน ซึ่งการเลือกรูปแบบและวัสดุให้เหมาะสมกับบ้าน เป็นส่วนสำคัญที่ผู้อยู่อาศัยจำเป็นจะต้องให้ความใส่ใจ ไม่แพ้กับส่วนอื่นๆภายในบ้านเลย
เพราะหากคุณละเลยการเลือกใช้ฝ้าเพดานที่เหมาะสม อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง ระบบสนันสนุน รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ ได้ด้วย
อ่านบทความ หน้าต่าง…ไอเท็มเปิดมุมมองรอบบ้านจากภายในสู่ภายนอก
อ้างอิง www.pinterest.com